วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การรักษาเบาหวาน

การรักษาเบาหวานมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. ลดอาการที่เกิดจากน้ำตาลสูง (ดังที่กล่าวมาแล้ว)
2. ลดภาวะแทรกซ้อนทั้งแบบเฉียบพลัน เช่น ช็อกจากน้ำตาลสูง, ติดเชื้อ, ภาวะเลือดเป็นกรด หรืออาการแทรกซ้อนระยะยาว เช่น ไตวาย, ตาบอด, ปลายประสาทเสื่อม, แผลที่เท้า ซึ่งต้องสูญเสียเท้าหรือขาไป
3. เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขในเด็ก ต้องให้เด็กสามารถเจริญเติบโต และพัฒนาการได้อย่างปรกติ
4. ในคนท้อง ต้องไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ให้ปลอดภัยทั้งลูกและแม่
เมื่อวินิจฉัยได้แน่นอน และอธิบายให้ผู้ป่วยทราบ, ตั้งตัวและทำใจได้แล้ว (อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าผู้ป่วยหรือญาติไม่เข้าใจ จะทำให้การักษาไม่ได้ผลดี และล้มเหลวในที่สุด) แพทย์ก็จะแนะนำการรักษาดังต่อไปนี้ ซึ่งสำคัญพอๆ กันในการควบคุมเบาหวาน ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ผลดี
1. เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน คือควบคุมอาหาร (อย่าเห็นแก่กิน)
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. การใช้ยา ยาเม็ดลดน้ำตาล หรือฉีดอินซูลิน
4. รักษาโรคที่เกิดร่วม หรือโรคแทรกซ้อน (ดังที่กล่าวมาแล้ว)
1. เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน คือควบคุมอาหาร (อย่าเห็นแก่กิน)
เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน, ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภท น้ำตาลและแป้ง เนื่องจากน้ำตาลที่สังเคราะห์แล้ว เช่น น้ำตาลทราย หรือขนมที่ผสม หรือเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลทราย เช่น น้ำหวาน, นม, กาแฟ, ใส่น้ำตาล, น้ำผึ้ง, น้ำอัดลม, ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง ขนมหวานอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว ควรหลีกเลี่ยง หรือกินน้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น (ไม่ให้ลงแดง) ส่วนอาหารประเภทแป้งธรรมชาติ เช่น ข้าว ควรกินข้าวจ้าวมากกว่าข้าวเหนียว ถ้าเป็นข้างกล้องจะดีมาก กินพออิ่ม แป้งอื่นๆ ที่เหมือนข้าว เช่น ขนมปังจืด, เส้นก๋วยเตี๋ยว, วุ้นเส้น อันนี้ก็กินพออิ่มๆ อย่ากินจุก ถ้าน้ำหนักมากก็ควรลดลง (ไม่ให้งดเป็นมื้อ) เรื่องน้ำหนักเอาง่ายๆ คือ น้ำหนักมาตรฐาน ผู้ชายส่วนสูงเป็นเซนติเมตร – 100 ส่วนผู้หญิง ลบด้วยร้อยแล้ว x 0.9 ถ้าน้ำหนักเกินก็ควรลดอาหาร, ถ้าขาดก็เพิ่มปริมาณอาหาร ส่วนผลไม้ประเภทเส้นใยสูงไม่หวาน กินได้ไม่จำกัด เช่น ชมพู่, ฝรั่งดิบ, แอปเปิ้ล, เมล็ดพืชผัก, ถั่ว ผลไม้หวานๆ ให้กินพออร่อย หอมปากหอมคอ เช่น แตงโม, ส้มเขียวหวาน, มะม่วงสุก, กล้วย ฯลฯ ผลไม้ที่ไม่ควรกินเลย คือ ลำไย, สับปะรด, ทุเรียน อาหารไขมันควรลดด้วย อาหารโปรตีนกินปกติ ยกเว้นมีปัญหาไตวายร่วมด้วยให้ลดลง
ถ้าขาดความหวานไม่ได้ เช่น นม, กาแฟและชา ให้ใช้สารให้ความหวาน หรือน้ำตาลเทียมมาใช้แทน
แอลกอฮอล์ (เหล้า, เบียร์, อื่นๆ) ทำให้การควบคุมเบาหวานลำบาก และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น น้ำตาลต่ำเกินไป และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ดื่มวิสกี้บางๆ ได้ 1 แก้ว แต่ต้องกินหลังอาหาร
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกาย จะช่วยทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น นิ่มนวลขึ้น ในผู้ป่วยที่น้ำตาลในเลือดสูงมาก อาหารไม่มาก บางทีออกกำลังกายและควบคุมอาหาร สามารถทำให้น้ำตาลใกล้เคียงปกติ โดยไม่ต้องกินยาก็ได้, การออกกำลังกาย ยังช่วยควบคุมน้ำหนัก (ในคนที่เกิน) ไม่ให้มากเกินไป เพราะน้ำหนักยังมีผลทางอ้อม ทำให้น้ำตาลในเลือกสูงขึ้นได้ นอกจากนั้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ, เส้นเลือดสมองตีบ, ทำให้หัวใจแข็งแรง เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทำให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้
การออกกำลังหายไม่ควรหักโหม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยออก, ผู้สูงอายุ ผู้ที่น้ำหนักเกินมากๆ (อ้วน) ควรค่อยๆ เริ่ม ตามศาสตร์ของการออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายที่ร่างกายใช้ออกซิเจน (aerobic exercise) เช่น เดินเร็วๆ, วิ่งเหยาะๆ, ปันจักรยานอยู่กับที่ หรือเคลื่อนที่ (ถ้าแน่ใจว่าจะไม่โดนชน) เต้นรำ, เต้น aerobic, ตีกอล์ฟ ประมาณ 4 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง พอนานๆ เข้า ถ้ายังมีแรงจะเอามากกว่านี้ก็ได้ แต่ขอให้ค่อยเป็นค่อยไป (อย่าใจร้อน) การออกกำลังกาย เป็นการทำให้สุขภาพใจ และกายดี แข็งแรง ซึ่งท่านต้องลงทุนลงแรงเอง เพราะท่านไม่สามารถซื้อหา การมีสุขภาพที่ดีได้ตามร้าน หรือห้างสรรพสินค้า ยิ่งถ้าออกเป็นประจำแล้ว จะรู้สึกเสพติด พอ 4 – 5 ทุ่มแล้วก็จะง่วง หลับสบายไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อออกกำลังกายแล้ว ก็ต้องพักผ่อนให้พอด้วย ถ้านอนได้วันละ 8 ชม. ล่ะก็สมบูรณ์แบบ (ถ้ากลางคืนนอนไม่พอ ต้องหาเวลาแอบงีบระหว่างวันเอง)
3. การใช้ยา ยาเม็ดลดน้ำตาล หรือฉีดอินซูลิน
ก่อนจะพูดถึงการรักษาเบาหวานด้วย ยา ขอเน้นและขอย้ำอีกครั้งว่า การรักษาโรคเบาหวานจะได้ผลดีนั้น ตัวผู้ป่วยรวมถึงผู้ใกล้ชิด เช่น ญาติ พี่ น้อง คนดูแล จะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และแนวทางการรักษาพอสมควร เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด จำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดี และยืนยาวเท่าคนปกติ และการรักษาต้องประกอบไปด้วย 3 อย่าง ซึ่งสำคัญพอๆ กัน จะเอาทางหนึ่งทางใด ทางเดียวหรือกึ่งๆ ครึ่งๆ กลางๆ ก็จะไม่ได้ผลดีนัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และยา

นพ.เชวง ลิขสิทธิ์

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.yourhealthyguide.com/article/ad-diabetes-2-2.html

วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

อาการของโรคเบาหวาน


อาการของโรคเบาหวาน
สำรวจดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ และแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้ เช่น

1.คนปกติมักจะไม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะในเวลากลางดึกหรือปัสสาวะอย่างมากไม่เกิน 1 ครั้ง เมื่อน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่า180 มก.% โดยเฉพาะในเวลากลางคืนน้ำตาลจะถูกขับออกทางปัสสาวะทำให้น้ำถูกขับออกมากขึ้น จึงมีอาการปัสสาวะบ่อยและเกิดการสูญเสียน้ำ และอาจจะพบว่าปัสสาวะมีมดตอม
ผู้ป่วยจะหิวน้ำบ่อยเนื่องจากต้องทดแทนน้ำที่ถูกขับออกทางปัสสาวะ
2.อ่อนเพลีย น้ำหนักลดเกิดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลจึงย่อยสลายส่วนที่เป็น โปรตีนและไขมันออกมา
3.ผู้ป่วยจะกินเก่งหิวเก่งแต่น้ำหนักจะลดลงเนื่องจากร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงมีการสลายพลังงานจากไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อ
อาการอื่นๆที่อาจเกิดได้แก่ การติดเชื้อ แผลหายช้า คัน
4ใคันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้หญิง สาเหตุของอาการคันเนื่องจากผิวแห้งไป หรือมีการอักเสบของผิวหนัง
เห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัวต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายตา เช่นสายตาสั้น ต่อกระจก น้ำตาลในเลือดสูง
5.ชาไม่มีความรู้สึก เจ็บตามแขนขาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากน้ำตาลสูงนานๆทำให้เส้นประสาทเสื่อม เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะไม่รู้สึก



วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เบาหวาน เกิดจากอะไร ?


ภาวะไม่สมดุลของฮอร์โมนอินซูลิน ผลลัพธ์ คือ น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ”

เบาหวานเป็นโรคที่พบตั้งแต่โบราณ ท่านอาจเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า ถ้าชิมปัสสาวะคนไข้เบาหวานจะมีรสหวาน ก็เป็น เรื่องจริง เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลปนออกมาจากภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงท่วมท้น การกรองของไตออกมาแต่คงไม่ต้องลงทุนทำถึงขนาดนั้นนะครับ
โรคเบาหวาน คือ ภาวะการไม่สมดุลของฮอร์โมน ชื่อ อินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลใช้เป็นพลังงานต่อไป ที่ว่าไม่สมดุลก็คือมีน้อยไม่พอกับความต้องการ หรือมีไม่น้อย (อันที่จริงมากกว่าปกติเสียอีก) แต่ไม่สามารถออกฤทธิ์ต่อผนังเซลได้เต็มที่ ผลก็ออกมาเหมือนกับน้อย คือพาน้ำตาลเข้าไปในเซลไม่ได้ ผลลัพธ์สุดท้าย คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ อันเป็นภาวะเป็นพิษ ต่อเนื้อเยื่อทั่วไปในร่างกายเมื่อต้องผจญกับภาวะน้ำตาลสูงอยู่เป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย สุขภาพอ่อนเพลีย

เบาหวานมีกี่ชนิด ?
“เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลินมักเกิดขึ้นในเด็ก เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินมักเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ การรักษาแตกต่างกัน”
ถ้าแบ่งกันง่าย ๆ ก็อาจพูดได้ว่า มี 2 ชนิด ชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน และชนิดไม่ต้องพึ่งอินซูลิน และชนิดไม่ต้องพึ่งอินซูลิน


เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน มักเกิดขึ้นในเด็ก รูปร่างผอม เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลิน ไม่สามารถใช้ยาเม็ดรับประทานได้


เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน มักเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ รูปร่างอ้วน เนื่องจากอินซูลินไม่สามารถออกฤทธิ์ต่อผนังเซลล์ได้ดี ทำ ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง การรักษาอาจเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก และใช้ยาเม็ดชนิดทานในขั้นต่อมา คนไข้ในกลุ่มนี้อาจต้องใช้ยาฉีดอินซูลินบางครั้งหรือตลอดไป ถ้าไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยยาเม็ด


วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย

ปัจจุบันเบาหวาน เป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตและคร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุดโรคหนึ่ง และมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากสถิติจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 50 ล้านคนในปีพ.ศ. 2528 เพิ่มเป็นกว่า 170 ล้านคนในขณะนี้ และมีการทำนายว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 300ล้านคนในปีพ.ศ. 2568จึงเป็นความท้าทายของงานสาธารณสุขยุคศตวรรษที่ 21 นี้เป็นอย่างยิ่ง ในการควบคุมป้องกันภาวะโรคนี้ สำหรับประเทศไทย แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยเบาหวานปีละ 2 หมื่นคน ความชุกของเบาหวานในประชาชนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 9.6 และร้อยละ 50 ของผู้เป็นเบาหวานเหล่านี้ไม่ทราบว่าตนเองมีเบาหวาน ดังนั้นกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้รับการวินิจฉัยจึงสูญเสียโอกาสในการทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรีบดำเนินการป้องกันและ รักษา
จากการสำรวจ สภาวะสุขภาพอนามัยประชาชนด้วยการตรวจร่างกาย พบว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพิ่มขึ้นจาก 2.3% ในปีพ.ศ. 2534 เป็น 4.6% ในปี พ.ศ.2539 ในจำนวนนี้มีเพียง 48%ที่ทราบว่าตนเองป่วยและมีเพียง 17.6% (พ.ศ. 2534) ของผู้ที่ทราบว่าตนเองป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะ สม (จากรายงานการสาธารณสุขไทย พ.ศ. 2544-2547)

ข้อมูลจาก-กระทรวงสาธารณสุข: รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรคเบาหวาน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง จากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่นความผิดปกติของปลายระบบประสาท จอประสาทตาเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไต รวมถึงแผลบริเวณเท้าที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานแล้วยากต่อการดูแลรักษา นอกจากนั้นแล้วผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยมานานกว่า 15 ปี ประมาณร้อยละ 2 จะมีความพิการทางสายตา มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยเบาหวานพบความผิดปกติของปลายระบบประสาท ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงเป็น 2 ถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานราว 150 ล้านคนทั่วโลกและจะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาพบว่าเฉพาะโรคเบาหวานคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 และร้อยละ 7 ในผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ แต่หากรวมภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานแล้วจะคิดเป็นร้อยละ 10 และร้อยละ 17 ในผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ การสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 3 พ.ศ. 2546-2547 ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)เพื่อหาความชุกของโรคเบาหวานในประชากรชายและหญิง จำแนกตามกลุ่มอายุ และภูมิลำเนาต่างๆ รวมถึงผลของการรักษาเบาหวานด้วยยาลดน้ำตาลในเลือด เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการประเมินความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองในคนไทยต่อไป
ข้อมูลโดย รศ.พญ.เยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม , รศ.พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ และคณะ

วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551

โรคเบาหวานคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร


อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ โรคเบาหวานเกิดจากร่างกายขาดอินซูลินหรือบางที่ไม่ขาด แต่อินซูลินที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผลเต็มที่ ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลไม่ได้ตามปกติ ยังผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นานๆ เข้าทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้พิการหรือเสียชีวิต
โดยปกติเมื่อเรากินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเข้าไป อาหารเหล่านี้จะถูกย่อยกลายเป็นโมเลกุลของน้ำตาลเล็กๆ แล้วจึงถูกดูดซึมจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดนำส่งเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน การใช้น้ำตาลให้เกิดพลังงานนี้ต้องอาศัยอินซูลิน เมื่อขาดอินซูลิน น้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ น้ำตาลในเลือดนั้นมีหลายชนิด สำหรับน้ำตาลในโรคเบาหวานเราจะหมายถึงน้ำตาลกลูโคสเท่านั้น