วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การรักษาเบาหวาน

การรักษาเบาหวานมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. ลดอาการที่เกิดจากน้ำตาลสูง (ดังที่กล่าวมาแล้ว)
2. ลดภาวะแทรกซ้อนทั้งแบบเฉียบพลัน เช่น ช็อกจากน้ำตาลสูง, ติดเชื้อ, ภาวะเลือดเป็นกรด หรืออาการแทรกซ้อนระยะยาว เช่น ไตวาย, ตาบอด, ปลายประสาทเสื่อม, แผลที่เท้า ซึ่งต้องสูญเสียเท้าหรือขาไป
3. เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขในเด็ก ต้องให้เด็กสามารถเจริญเติบโต และพัฒนาการได้อย่างปรกติ
4. ในคนท้อง ต้องไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ให้ปลอดภัยทั้งลูกและแม่
เมื่อวินิจฉัยได้แน่นอน และอธิบายให้ผู้ป่วยทราบ, ตั้งตัวและทำใจได้แล้ว (อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าผู้ป่วยหรือญาติไม่เข้าใจ จะทำให้การักษาไม่ได้ผลดี และล้มเหลวในที่สุด) แพทย์ก็จะแนะนำการรักษาดังต่อไปนี้ ซึ่งสำคัญพอๆ กันในการควบคุมเบาหวาน ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ผลดี
1. เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน คือควบคุมอาหาร (อย่าเห็นแก่กิน)
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. การใช้ยา ยาเม็ดลดน้ำตาล หรือฉีดอินซูลิน
4. รักษาโรคที่เกิดร่วม หรือโรคแทรกซ้อน (ดังที่กล่าวมาแล้ว)
1. เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน คือควบคุมอาหาร (อย่าเห็นแก่กิน)
เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน, ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภท น้ำตาลและแป้ง เนื่องจากน้ำตาลที่สังเคราะห์แล้ว เช่น น้ำตาลทราย หรือขนมที่ผสม หรือเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลทราย เช่น น้ำหวาน, นม, กาแฟ, ใส่น้ำตาล, น้ำผึ้ง, น้ำอัดลม, ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง ขนมหวานอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว ควรหลีกเลี่ยง หรือกินน้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น (ไม่ให้ลงแดง) ส่วนอาหารประเภทแป้งธรรมชาติ เช่น ข้าว ควรกินข้าวจ้าวมากกว่าข้าวเหนียว ถ้าเป็นข้างกล้องจะดีมาก กินพออิ่ม แป้งอื่นๆ ที่เหมือนข้าว เช่น ขนมปังจืด, เส้นก๋วยเตี๋ยว, วุ้นเส้น อันนี้ก็กินพออิ่มๆ อย่ากินจุก ถ้าน้ำหนักมากก็ควรลดลง (ไม่ให้งดเป็นมื้อ) เรื่องน้ำหนักเอาง่ายๆ คือ น้ำหนักมาตรฐาน ผู้ชายส่วนสูงเป็นเซนติเมตร – 100 ส่วนผู้หญิง ลบด้วยร้อยแล้ว x 0.9 ถ้าน้ำหนักเกินก็ควรลดอาหาร, ถ้าขาดก็เพิ่มปริมาณอาหาร ส่วนผลไม้ประเภทเส้นใยสูงไม่หวาน กินได้ไม่จำกัด เช่น ชมพู่, ฝรั่งดิบ, แอปเปิ้ล, เมล็ดพืชผัก, ถั่ว ผลไม้หวานๆ ให้กินพออร่อย หอมปากหอมคอ เช่น แตงโม, ส้มเขียวหวาน, มะม่วงสุก, กล้วย ฯลฯ ผลไม้ที่ไม่ควรกินเลย คือ ลำไย, สับปะรด, ทุเรียน อาหารไขมันควรลดด้วย อาหารโปรตีนกินปกติ ยกเว้นมีปัญหาไตวายร่วมด้วยให้ลดลง
ถ้าขาดความหวานไม่ได้ เช่น นม, กาแฟและชา ให้ใช้สารให้ความหวาน หรือน้ำตาลเทียมมาใช้แทน
แอลกอฮอล์ (เหล้า, เบียร์, อื่นๆ) ทำให้การควบคุมเบาหวานลำบาก และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น น้ำตาลต่ำเกินไป และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ดื่มวิสกี้บางๆ ได้ 1 แก้ว แต่ต้องกินหลังอาหาร
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกาย จะช่วยทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น นิ่มนวลขึ้น ในผู้ป่วยที่น้ำตาลในเลือดสูงมาก อาหารไม่มาก บางทีออกกำลังกายและควบคุมอาหาร สามารถทำให้น้ำตาลใกล้เคียงปกติ โดยไม่ต้องกินยาก็ได้, การออกกำลังกาย ยังช่วยควบคุมน้ำหนัก (ในคนที่เกิน) ไม่ให้มากเกินไป เพราะน้ำหนักยังมีผลทางอ้อม ทำให้น้ำตาลในเลือกสูงขึ้นได้ นอกจากนั้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ, เส้นเลือดสมองตีบ, ทำให้หัวใจแข็งแรง เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทำให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้
การออกกำลังหายไม่ควรหักโหม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยออก, ผู้สูงอายุ ผู้ที่น้ำหนักเกินมากๆ (อ้วน) ควรค่อยๆ เริ่ม ตามศาสตร์ของการออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายที่ร่างกายใช้ออกซิเจน (aerobic exercise) เช่น เดินเร็วๆ, วิ่งเหยาะๆ, ปันจักรยานอยู่กับที่ หรือเคลื่อนที่ (ถ้าแน่ใจว่าจะไม่โดนชน) เต้นรำ, เต้น aerobic, ตีกอล์ฟ ประมาณ 4 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง พอนานๆ เข้า ถ้ายังมีแรงจะเอามากกว่านี้ก็ได้ แต่ขอให้ค่อยเป็นค่อยไป (อย่าใจร้อน) การออกกำลังกาย เป็นการทำให้สุขภาพใจ และกายดี แข็งแรง ซึ่งท่านต้องลงทุนลงแรงเอง เพราะท่านไม่สามารถซื้อหา การมีสุขภาพที่ดีได้ตามร้าน หรือห้างสรรพสินค้า ยิ่งถ้าออกเป็นประจำแล้ว จะรู้สึกเสพติด พอ 4 – 5 ทุ่มแล้วก็จะง่วง หลับสบายไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อออกกำลังกายแล้ว ก็ต้องพักผ่อนให้พอด้วย ถ้านอนได้วันละ 8 ชม. ล่ะก็สมบูรณ์แบบ (ถ้ากลางคืนนอนไม่พอ ต้องหาเวลาแอบงีบระหว่างวันเอง)
3. การใช้ยา ยาเม็ดลดน้ำตาล หรือฉีดอินซูลิน
ก่อนจะพูดถึงการรักษาเบาหวานด้วย ยา ขอเน้นและขอย้ำอีกครั้งว่า การรักษาโรคเบาหวานจะได้ผลดีนั้น ตัวผู้ป่วยรวมถึงผู้ใกล้ชิด เช่น ญาติ พี่ น้อง คนดูแล จะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และแนวทางการรักษาพอสมควร เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด จำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดี และยืนยาวเท่าคนปกติ และการรักษาต้องประกอบไปด้วย 3 อย่าง ซึ่งสำคัญพอๆ กัน จะเอาทางหนึ่งทางใด ทางเดียวหรือกึ่งๆ ครึ่งๆ กลางๆ ก็จะไม่ได้ผลดีนัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และยา

นพ.เชวง ลิขสิทธิ์

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.yourhealthyguide.com/article/ad-diabetes-2-2.html