วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย

ปัจจุบันเบาหวาน เป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตและคร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุดโรคหนึ่ง และมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากสถิติจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 50 ล้านคนในปีพ.ศ. 2528 เพิ่มเป็นกว่า 170 ล้านคนในขณะนี้ และมีการทำนายว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 300ล้านคนในปีพ.ศ. 2568จึงเป็นความท้าทายของงานสาธารณสุขยุคศตวรรษที่ 21 นี้เป็นอย่างยิ่ง ในการควบคุมป้องกันภาวะโรคนี้ สำหรับประเทศไทย แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยเบาหวานปีละ 2 หมื่นคน ความชุกของเบาหวานในประชาชนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 9.6 และร้อยละ 50 ของผู้เป็นเบาหวานเหล่านี้ไม่ทราบว่าตนเองมีเบาหวาน ดังนั้นกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้รับการวินิจฉัยจึงสูญเสียโอกาสในการทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรีบดำเนินการป้องกันและ รักษา
จากการสำรวจ สภาวะสุขภาพอนามัยประชาชนด้วยการตรวจร่างกาย พบว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพิ่มขึ้นจาก 2.3% ในปีพ.ศ. 2534 เป็น 4.6% ในปี พ.ศ.2539 ในจำนวนนี้มีเพียง 48%ที่ทราบว่าตนเองป่วยและมีเพียง 17.6% (พ.ศ. 2534) ของผู้ที่ทราบว่าตนเองป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะ สม (จากรายงานการสาธารณสุขไทย พ.ศ. 2544-2547)

ข้อมูลจาก-กระทรวงสาธารณสุข: รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรคเบาหวาน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง จากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่นความผิดปกติของปลายระบบประสาท จอประสาทตาเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไต รวมถึงแผลบริเวณเท้าที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานแล้วยากต่อการดูแลรักษา นอกจากนั้นแล้วผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยมานานกว่า 15 ปี ประมาณร้อยละ 2 จะมีความพิการทางสายตา มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยเบาหวานพบความผิดปกติของปลายระบบประสาท ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงเป็น 2 ถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานราว 150 ล้านคนทั่วโลกและจะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาพบว่าเฉพาะโรคเบาหวานคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 และร้อยละ 7 ในผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ แต่หากรวมภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานแล้วจะคิดเป็นร้อยละ 10 และร้อยละ 17 ในผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ การสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 3 พ.ศ. 2546-2547 ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)เพื่อหาความชุกของโรคเบาหวานในประชากรชายและหญิง จำแนกตามกลุ่มอายุ และภูมิลำเนาต่างๆ รวมถึงผลของการรักษาเบาหวานด้วยยาลดน้ำตาลในเลือด เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการประเมินความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองในคนไทยต่อไป
ข้อมูลโดย รศ.พญ.เยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม , รศ.พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ และคณะ

ไม่มีความคิดเห็น: